Accessibility Tools

ศาลแขวงธนบุรี
Thonburi Kwaeng Court

เกี่ยวกับหน่วยงาน
image

ศาลแขวงธนบุรี

ประวัติความเป็นมาศาลแขวงธนบุรีimage

 

ประวัติศาลแขวงธนบุรี

หากจะกล่าวถึงประวัติของศาลแขวงธนบุรีแล้ว สามารถสืบสาวไปได้ตั้งแต่สมัยกรุงรัตน-โกสินทร์ ตอนต้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ในสมัยนั้นประเทศไทยยังปกครองแบบจตุสดมภ์ กรมเมืองหรือที่เรียกกันว่า “กรมพระนครบาล” เป็น กรมหนึ่งในจตุสดมภ์ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพมหานคร มีศาลในสังกัดเรียกว่า “ศาลนครบาล” กรมพระนครบาลได้จัดตั้งกองตระเวนขึ้น 2 กอง คือ กองตระเวนซ้ายและกองตระเวนขวา มีพลตระเวนทำหน้าที่จับผู้ร้ายให้ผู้ใหญ่ในกรมชำระตัดสินความได้เอง โดยยังไม่มีผู้พิพากษาตัดสินความได้อย่างในปัจจุบัน  

                ในปี พ.ศ.2417 มีการปรับปรุงกิจการตำรวจซึ่งเรียกว่า “พลตระเวน” ในกรุงเทพมหานครออกเป็น 3 กอง พลตระเวนทั้งสามกองนี้ เมื่อจับผู้ร้ายได้ก็ชำระความเอง เรียกว่า “ศาลพลตระเวน” สังกัดกรมพระนครบาล  

                หลังจากประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรมแล้ว ในปี พ.ศ.2436 (ร.ศ.111) ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลโปริสภาเป็นศาลกองตระเวนสำหรับกรุงเทพมหานคร โดยยกเลิกศาลพลตระเวนเดิม ศาลโปริสภาที่จัดตั้งขึ้นมีอำนาจชำระและตัดสินความอาญาลหุโทษเฆี่ยน (ทวน) 50 ทีลงมา และโทษจำไม่ถึงคุก จำที่ตะรางตั้งแต่ 6 เดือนลงมา หรือปรับไม่เกิน 2 ชั่ง (160 บาท) ส่วนคดีแพ่งมีอำนาจชำระและตัดสินความทุนทรัพย์ไม่เกิน 2 ชั่ง (160 บาท)   

                “คุก” ตามความหมายในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลโปริสภา หมายถึง ที่คุมขังนักโทษที่ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ผู้ต้องโทษจำคุกในสมัยนั้นต้องใส่พวงคอและเพิ่มโซ่ตรวนอีกด้วย  

                “ตะราง” เป็นที่คุมขังนักโทษตั้งแต่ 6 เดือนลงมา  

                คุก กับ ตะราง ในสมัยนั้นจึงมีความหมายต่างกัน และอยู่ต่างสถานที่กัน

                                

ในปี พ.ศ.2437 (ร.ศ.113) มีประกาศตั้งศาลโปริสภาขึ้นในกรุงเทพมหานครเพิ่มอีก 3 ศาล รวมเป็น 4 ศาล คือศาลโปริสภาเดิมเป็นศาลโปริสภาที่ 1 มีเขตอำนาจตามเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครใต้ในปัจจุบันศาลโปริสภาที่ 2 มีเขตอำนาจตามเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือในปัจจุบันศาลโปริสภาที่ 3 มีเขตอำนาจตามเขตอำนาจของศาลแขวงธนบุรีในปัจจุบันศาลโปริสภาที่ 4 มีเขตอำนาจตามเขตอำนาจของศาลแขวงตลิ่งชันในปัจจุบัน  

                นอกจากประกาศตั้งศาลโปริสภาเพิ่มแล้ว ตามประกาศดังกล่าวยังให้งดเว้นการลงโทษทวน (เฆี่ยนตีด้วยลวดหนัง) เปลี่ยนเป็นโทษจำขังแทนเป็นครั้งแรก  

                ศาลโปริสภาที่ 1 และที่ 2 ตั้งอยู่ฝั่งพระนครมีปริมาณคดีมาก ส่วนศาลโปริสภาที่ 3 ที่ 4 ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งธนบุรีมีปริมาณคดีน้อย ในปี พ.ศ.2438 จึงประกาศยกเลิกศาลโปริสภาที่ 4 ศาลโปริสภาที่ 3 จึงมีเขตอำนาจในท้องที่ฝั่งธนบุรีทั้งหมด

                    

                ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ได้จัดทำพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเรียกว่า “พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ.127 (พ.ศ.2452)” แบ่งศาลออกเป็น ศาลในกรุงเทพมหานครและศาลหัวเมือง ศาลโปริสภาเป็นศาลในกรุงเทพฯ ศาลแขวงเป็นศาลในหัวเมือง ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับนี้ บัญญัติชื่อศาลแขวงในหัวเมือง ส่วนในกรุงเทพมหานคร ยังใช้คำว่าศาลโปริสภาอยู่ต่อไปจนถึง พ.ศ.2478 มีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2478 ใช้คำว่าศาลแขวงทั้งในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองในปีเดียวกันนี้ ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงสำหรับจังหวัดพระนคร และธนบุรี พ.ศ.2478 ให้ตั้งศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงพระนครเหนือ และศาลแขวงธนบุรีขึ้น แบ่งเขตอำนาจตามเขตอำนาจเดิมของศาลโปริสภาที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ